วัดบางจะเกร็ง
ตั่งอยู่ที่ ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
วัดบางจะเกร็งเดิมชื่อว่า “อินทคงคา” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเห็นว่าพื้นที่ในตำบลบางจะเกร็ง มีต้นจะเกร็ง หรือต้นเหงือกปลาหมอขึ้นในพื้นที่มากมาย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบางจะเกร็ง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วัดบางจะเกร็ง เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า นายคิน นางบุญมา นางคง และนางบุญมี ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ได้อพยพหนีภัยมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และในจำนวนผู้ที่อพยพหนีมานั้น มีพระภิกษุร่วมเดินทางมาด้วย เมื่อถึงสามแยกเห็นว่ามีภูมิประเทศเหมาะสม จึงตั้งรากฐานอยู่และสร้างที่พักสงฆ์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่คำบอกเล่าเรื่องนี้ ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอน เพราะอาจจะมีวัดร้างอยู่แล้ว พระภิกษุที่ร่วมเดินทางมาจึงได้มาพักและปฏิสังขรณ์ให้เป็นที่พักของสงฆ์
ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อศิลา” สร้างขึ้นจากหินแกรนิต ศิลปะโบราณสมัยทวาราวดี เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุด เป็น ๑ ใน ๓ องค์ของประเทศไทย (องค์หนึ่งอยู่ที่ วัดทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย อีกองค์หนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กทม.)
ตามปกติจะไม่เปิดนำมาให้ประชาชนได้เข้าชม แต่จะจัดขบวนแห่ให้ประชาชนทั่วไปได้เคารพบูชาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และในงานสำคัญ ๆ เท่านั้น